บริการของเรา
การจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและกลยุทธ์ความยั่งยืน
การวางกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีจะช่วยให้องค์กรเห็นแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน นำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย แผนงานและกิจกรรม และตัวชี้วัดต่างๆได้ กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีควรครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายและวิสัยทัศน์ระยะยาวขององค์กร รวมถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียด้วย กลยุทธ์ความยั่งยืน คือ แผนงานหรือแนวทางที่องค์กรกำหนดขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามที่ระบุไว้ในกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมไปถึงรายละเอียดแผนของกิจกรรม ระยะเวลา การจัดสรรทรัพยากร และตัวชี้วัดความสำเร็จ กลยุทธ์ความยั่งยืนที่ดีควรบูรณาการกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบและเสริมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่องค์กรเองด้วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กลยุทธ์นี้ควรมีการทบทวนและปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถรับมือและตอบสนองต่อความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร
หลายองค์กรอาจพบปัญหาเมื่อถึงเวลาต้องนำหลักการด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติจริง เช่น การดำเนินงานในกระบวนการทางธุรกิจ การตัดสินใจ หรือการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตขององค์กร ผู้บริหารหรือพนักงานในองค์กรอาจไม่เข้าใจถึงความเกี่ยวข้องในงานประจำของพวกเขา ทำให้เป้าหมายหรือแผนงานด้านความยั่งยืนไม่สามารถสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย หรือเป็นการทำเพียงแค่ผิวเผิน ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างแท้จริง การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ จะสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร กลยุทธ์ นโยบาย และกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทำให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นภาพในอนาคตร่วมกันและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จด้วยกันตามหน้าที่ของแต่ละคน ทั้งยังต้องสามารถวัดผลสำเร็จแต่ละด้านด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสื่อสารผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่สนใจรับทราบ

การจัดทำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
องค์กรโดยทั่วไปมีประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือการกำกับดูแล ที่ต้องบริหารจัดการมากมาย แต่ประเด็นเหล่านั้นควรถูกจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรขององค์กรจะถูกใช้ไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดทั้งสำหรับธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย ที่อาจส่งผลต่อความสามารถและการสร้างคุณค่าในระยะยาวขององค์กรได้ ดังนั้นการจัดทำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานต่อไปขององค์กร ตลอดจนกำหนดกรอบเนื้อหาการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรตามมาตรฐานสากลด้วย การใช้แนวทาง Double Materiality เพื่อบ่งชี้ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน จะทำให้องค์กรสามารถจัดลำดับความสำคัญของประเด็นจากการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผู้คนและสังคม ตลอดจนสิทธิมนุษยชน และประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเงินและความสามารถในการสร้างคุณค่าขององค์กรเอง ทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากประเด็นเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจจากประเด็นดังกล่าวได้เช่นกัน

การจัดทำรายงานความยั่งยืนแบบ 56-1 One Report
หรือ แบบรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI Standards 2021
การรายงานและเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบถึงข้อมูลเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน กลยุทธ์ที่ใช้และผลการจัดการทุกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่สร้างความเสี่ยงและผลกระทบต่อทั้งองค์กรและต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผู้คนและสังคม รวมถึงสิทธิมนุษยชน ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาที่รายงานควรมีความถูกต้อง แม่นยำ สมดุลทั้งด้านบวกและด้านลบ เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนกับเป้าหมายที่ตั้งไว้และปีก่อนหน้า และควรรายงานตามหลักการของมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับด้วย นอกจากนี้ การจัดทำรายงานความยั่งยืนยังช่วยให้องค์กรสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายระยะยาว มองเห็นช่องว่างเพื่อการพัฒนาขององค์กร สร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานในองค์กร และสร้างความน่าเชื่อถือแก่องค์กร ดังนั้น การเขียนรายงานความยั่งยืน จึงไม่ใช่การเขียนเพื่อให้มีรายงานส่งตามกำหนดเท่านั้น แต่ควรจัดทำอย่างมีเป้าหมายและมีกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อใช้ประโยชน์จากการจัดทำรายงานให้ได้มากที่สุด

การกำกับดูแลกิจการ
การกำกับดูแลกิจการควรมีโครงสร้าง นโยบายและกระบวนการที่เหมาะสม วางระบบของกฎระเบียบ แนวทางปฏิบัติ และกระบวนการที่ใช้ในการกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานขององค์กร โดยกำหนดสิทธิและความรับผิดชอบอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เช่น ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน เพื่อสร้างความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และความเป็นธรรมในการตัดสินใจ การกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม การบริหารจัดการความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ส่งผลต่อการดำเนินงานที่ดีขององค์กรและสร้างความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว รวมถึงการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม

การบริหารความเสี่ยงองค์กร
ความเสี่ยงคือความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้น และส่งผลให้องค์กรไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ การบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมและบูรณาการเพื่อระบุ ประเมิน จัดการ และติดตามความเสี่ยงในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงทุกประเภท จะได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมโดยพิจารณาถึงภาพรวมทั้งหมด การบริหารความเสี่ยงองค์กรที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้องค์กรคาดการณ์และประเมินภัยคุกคามหรืออุปสรรคในอนาคตได้ พร้อมกับมองเห็นประโยชน์หรือโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ช่วยเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ส่งเสริมความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนในระยะยาว

การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนเป็นการนำประเด็นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) มาพิจารณาร่วมด้วยในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชน การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่อุปทาน การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรหรือผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร สร้างความยืดหยุ่นของธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของโลกด้วย

การประเมินความยั่งยืนขององค์กร
การประเมินความยั่งยืนมีเป้าหมายเพื่อประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรโดยอ้างอิงความสอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการจัดประเมินโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการประเมินอย่างเป็นระบบที่วัดและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรในหลากหลายมิติ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการปฏิบัติด้านการกำกับดูแล โดยมีสรุปผลการประเมินพร้อมระบุข้อแนะนำเพื่อการปรับปรุงมาให้ แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินความยั่งยืนขององค์กรไม่ควรทำเพื่อผลคะแนนหรือรางวัลแต่เพียงอย่างเดียว ควรใช้ประโยชน์จากผลการประเมินมาปรับปรุงองค์กรอย่างแท้จริง จึงจะช่วยให้องค์กรมองเห็นช่องว่างเพื่อการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรให้ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล

การฝึกอบรมและพัฒนาทีมงานด้านความยั่งยืน
การนำหลักการความยั่งยืนไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จในองค์กร ต้องการผู้นำและทีมงานด้านความยั่งยืนที่มีความรู้และทักษะความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในองค์กร มีความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนในบริบทและประเด็นที่องค์กรเกี่ยวข้อง มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัท ระดับผู้บริหาร และระดับพนักงาน มีความเข้าใจในธุรกิจขององค์กรและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงเข้าใจความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะทำให้ทีมงานด้านความยั่งยืนสามารถเห็นภาพรวมของธุรกิจและบูรณาการแนวทางด้านความยั่งยืนเข้าไปในกระบวนการทางธุรกิจอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน การฝึกอบรมและพัฒนาทีมงานด้านความยั่งยืนจึงเป็นการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ความเข้าใจ และความสามารถของสมาชิกในทีม ช่วยให้วางกลยุทธ์และแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร
